ถ้ำอชันต้าและถ้ำเอลโลล่า อยู่ที่ไหน? ใครเป็นคนสร้าง

 

ถ้ำอชันต้า และถ้ำเอลโลล่า

มรดกโลกของอินเดีย

ที่สลักโดยฝีมือมนุษย์ด้วยเครื่องมือพื้นๆเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว

แต่ผลงานที่ได้ออกมา สุดแสนสวยงามและมีคุณค่าสูงส่ง

ปานประหนึ่งเนรมิตโดยเทวดาจากสวรรค์ชั้นพรหม

ถ้ำอชันต้าและถ้ำเอลโลล่า อยู่ที่ไหน?

ถ้ำอชันต้าและถ้ำเอลโลล่า อยู่ที่เมืองออรังคบัด รัฐมหาราษฏร์ ของประเทศอินเดีย เป็นรัฐที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ การเดินทาง สามารถเดินทางจากประเทศไทย โดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯไปลงที่เมืองมุมไบ หรือเมืองบอมเบย์ในอดีต ก็คือเมืองเดียวกันนั่นแหละ แล้วต่อเครื่องบินภายในประเทศไปลงที่เมืองออรังคบัด ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมุมไบขึ้นไปอีกประมาณ 400 กิโลเมตร นั่งเครื่องบินประมาณ 35นาทีก็ถึง หรือใครต้องการบินจากกรุงเทพฯ ไปที่นิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย แล้วต่อเครื่องบินภายในประเทศไปลงที่เมืองออรังคบัด ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงนิวเดลีก็ได้ ใช้เวลาบินประมาณ 2 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว แต่ถ้าจะไปชมถ้ำอชันต้า ก็จะต้องนั่งรถต่อไปอีกประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วไปต่อรถบัสที่ทางรัฐบาลท้องถิ่นคล้ายๆ อบต. ของเรานั่นแหละ เขาจัดไว้บริการ นั่งต่อไปอีก 15นาที เสียค่ารถคนละ 25รูปี  กลับอีก25 รูปี ไปกลับคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 30 บาท แต่ถ้าจะไปชม ถ้ำเอลโลล่า ก็อยู่ใกล้เมืองออรังคบัดเข้ามาอีกนิดหนึ่ง ประมาณ 40 กิโลเมตร ไปทางเหนือ ใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบๆหนึ่งชั่วโมง รถสามารถจอดหน้าถ้ำได้เลย ไม่ต้องต่อรถของ อบต. อีก

ใครเป็นคนสร้างถ้ำอชันต้า และถ้ำเอลโลล่า?

ความจริงแล้ว แม้ถ้ำอชันต้า และถ้ำเอลโลล่าตั้งอยู่ห่างกันเกือบ 100 กิโลเมตรก็ตาม แต่ในทางทฤษฏีแล้ว ถือว่าทั้งสองถ้ำสร้างมาจากคติความเชื่อเดียวกัน และสร้างในระยะเวลาร่วมสมัยกัน ถ้าหากท่านเคยไปชมทั้ง 2 ถ้ำมาแล้ว ก็จะเห็นด้วยตาตัวเอง แต่ท่านที่ยังไม่เคยไปชมก็จะสามารถดูภาพประกอบในเรื่องที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ว่าทั้งสองถ้ำนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อความศรัทธาทางศาสนา 3 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู และ ศาสนาเชน ที่ถ้ำอชันต้าทั้ง 30 ถ้ำล้วนสร้างตามคติความเชื่อในทางศาสนาพุทธทั้ง 30 ถ้ำล้วนๆ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ สร้างตามคติของนิกายพุทธหินยาน ส่วนหนึ่งคือถ้ำหมายเลข 8,9,10,12,13,15 ส่วนที่เหลือสร้างตามคติพุทธมหายาน ส่วนที่ถ้ำเอลโลล่านั้น 34 ถ้ำ แบ่งเป็น 3 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู และ ศาสนาเชน ทั้งสองแห่งคือถ้ำอชันต้า และถ้ำเอลโลล่า สร้างโดยช่างฝีมือชั้นครู โดยการอุปถัมภ์ของกษัตริย์และเสนาบดีระดับสูงในสมัยนั้นๆ และอาจจะมีการร่วมแรงร่วมใจของศาสนิกชนที่นับถือศาสนานั้นๆผสมโรงด้วย แต่ไม่ใช่สร้างโดยพระภิกษุหรือนักบวชของทั้ง 3 ศาสนาแน่นอน เพราะว่าพระภิกษุและนักบวชเหล่านั้นต้องการปลีกวิเวก ไม่ได้ต้องการสร้างสิ่งที่เป็นกิเลสและความวุ่นวาย อีกอย่างหนึ่ง ผลงานที่ปรากฏหลงเหลือให้เราเห็นนั้น มาจากช่างที่มีฝีมือดีมากระดับชั้นครู ซึ่งพระและนักบวชคงไม่สามารถทำได้

ถ้ำอชันต้า และถ้ำเอลโลล่าบอกเรื่องราวอะไรบ้าง?

นอกจากความสวยงาม ความประณีตบรรจงในการแกะสลักรูปประติมากรรม และภาพเขียนสีต่างๆในทั้งสองถ้ำแล้ว ประติมากรรม และภาพเขียนสีต่างเหล่านั้น ยังสามารถเล่าเรื่องราวให้เราได้รู้ความเป็นไปในชีวิตประจำวันของผู้คนสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ยกตัวอย่างเช่น รูปผู้ชายใส่ถุงเท้าสีฟ้าสดใส กับอีกคนใส่ถุงเท้าสีชาวนั่งคุยกันที่ถ้ำหมายเลข 2 ถ้ำอชันต้าเป็นต้น แสดงให้เห็นว่า คนอินเดียสมัยนั้นมีการสวมถุงเท้ากันแล้ว และผู้ชายสองคนนั้น ก็ใส่ตุ้มหูด้วย นั่นก็บอกเราได้อีกว่าผู้ชายอินเดียสมัยนั้นใส่ตุ้มหู แล้วเรายังได้เห็นการสวมใส่สร้อยคอ  และเข็มขัดของผู้หญิงสมัยนั้นอีกด้วย นอกจากนั้น เรายังได้เห็นรูปแกะสลักรูปพระพุทธเจ้าในท่ายืน ซึ่งสลักตามศิลปะแบบเมืองมถุรา ศิลปะแบบนี้นิยมกันทางภาคเหนือของอินเดียแต่จะคล้ายกับศิลปะแบบอมราวดีทางภาคใต้ของอินเดีย คือนิยมที่จะสลักหรือวาดรูปพระพุทธเจ้าให้มีจีวรบางแนบเนื้อ ทำให้เห็นกล้ามเนื้อข้างในชัดเจน บางรูปจะสลักให้เห็นองคชาติ โดยสลักให้เห็นปลายองคชาติมีหนังหุ้มและปลายแหลมเหมือนดอกจำปี เพราะช่างต้องการโชว์ให้เห็นลักษณะของมหาบุรุษ เพราะว่าองคชาติที่มีหนังหุ้มปลายและปลายแหลมเหมือนดอกจำปีนั้น เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษ ผู้ซึ่งจะมาประสูติและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธรูปแบบนี้ สกุลช่างแบบมถุรานี้ เราไม่ค่อยพบเห็นในเมืองไทยเราเลย

ถ้ำที่มีลักษณะคล้ายถ้ำอชันต้า และถ้ำเอลโลล่า มีพบที่ไหนบ้าง?

ลักษณะถ้ำที่สร้างตามคติความเชื่อทางศาสนา และเจาะภูเขาหินตันทั้งลูกให้ออกมาเป็นห้องหับ และรูปสลักภาพเขียน เสาและผนังเรียงรายต่อกันเป็นชิ้นเดียว โดยมิได้นำหินจากที่อื่นมาต่อเติมแบบนี้ ในอินเดียพบอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศ และนอกจากนี้ ก็ยังพบในประเทศจีนอีกหลายแห่ง ซึ่งเชื่อกันว่า ได้มีการนำช่างจากอินเดียไปสร้างในเมืองจีน แต่ว่าเมื่อเทียบอายุแล้ว ถ้ำที่อชันต้า อายุจะเก่าแก่กว่า คือ เริ่มสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงนับถือศาสนาพุทธ และสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ศาสนาพุทธอย่างกว้างขวางทั้งในชมภูทวีปและต่างประเทศ

ถ้ำอชันต้า และถ้ำเอลโลล่า คุ้มค่าที่จะไปชมหรือไม่?

ถ้าหากท่านเป็นนักท่องเที่ยวและยังมิได้คำนึงถึงความเชื่อ ความศรัทธาทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ หรือฮินดู หรือศาสนาเชนก็ตาม ถ้ำอชันต้า และถ้ำเอลโลล่าคือแหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่ ที่จะต้องไปชมให้ได้ เพราะถ้าเทียบกับนครวัดของเขมร หรือ ปีรามิดของอียิปต์ ผมคิดว่า ถ้ำอชันต้า และถ้ำเอลโลล่าสร้างยากกว่า เพราะเจาะจากภูเขาหินตันทั้งลูกให้มีทั้งเสา เพดาน พื้น แล้วยังรูปแกะสลักประดับตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะรูปสลักที่เป็นรูปประธานของห้องนั้นๆ ไม่ต้องพูดถึงฝีมือเยี่ยมยอดสูงยิ่งอยู่แล้ว แต่ความยากคือ ทุกชิ้น เป็นเนื้อเดียวกันไม่มีการต่อเติมเลย ถ้าไม่กลัวว่าจะไม่สุภาพ ผมอยากจะพูดว่า ถ้าไม่ตาย ต้องไปดูให้ได้

 

เขียนโดย นายอินเตอร์

คอลัมน์นิสต์นิตยสารเช็คทัวร์

CheckTour Magazine

 

ขอบคุณนิตยสารเช็คทัวร์ สำหรับบทความที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

 

 

24 สิงหาคม 2562

ผู้ชม 27811 ครั้ง

Engine by shopup.com